top of page

วารสารวิชาการนวัตกรรมทางสังคมและการเรียน

Academic Journal of Social Innovation and Learning

จริยธรรมการตีพิมพ์

จริยธรรมในการตีพิมพ์ วารสารวิชาการนวัตกรรมทางสังคมและการเรียนรู้

วารสารวิชาการนวัตกรรมทางสังคมและการเรียนรู้ เป็นวารสารที่มุ่งเน้นการตีพิมพ์บทความที่มีคุณภาพ

ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสอดคล้องกับมาตรฐานด้านจริยธรรมในการตีพิมพ์บทความตามข้อกำหนดของคณะกรรมการจริยธรรมการตีพิมพ์ (Committee on Publication Ethics: COPE)

ทางกองบรรณาธิการจึงกำหนดจริยธรรมในการตีพิมพ์ ดังนี้   

บทบาทและหน้าที่ของผู้เขียน (Duties of Authors)
1. ผู้เขียนจะต้องรับรองว่าบทความที่ส่งเข้าเพื่อรับการพิจารณาตีพิมพ์ต้องเป็นผลงานที่ไม่เคยตีพิมพ์หรือเผยแพร่ ที่ใดมาก่อน รวมถึงไม่อยู่ระหว่างการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารอื่น
2. ผู้เขียนต้องรายงานข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัยจริงหรือการค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และรับผิดชอบต่อผลการวิจัย ข้อสรุป และข้อคิดเห็น ในบทความที่นำมาตีพิมพ์
3. ผู้เขียนต้องไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น ต้องอ้างอิงผลงานของผู้อื่น เมื่อผู้เขียนนำผลงานนั้นมาใช้ในบทความของตนเอง และต้องจัดทำรายการอ้างอิงท้ายบทความให้ถูกต้องและสมบูรณ์
4. ผู้เขียนจะต้องตรวจสอบการคัดลอกผลงานของผู้อื่น (Plagiarism) โดยใช้โปรแกรมที่เชื่อถือได้ พร้อมแสดงหลักฐานมายังกองบรรณาธิการ เพื่อเสนอตีพิมพ์บทความบทความ
5. ผู้เขียนต้องส่งบทความที่จะตีพิมพ์ตามรูปแบบบทความที่วารสารได้กำหนดไว้ มิฉะนั้นทางบรรณาธิการจะไม่รับพิจารณาบทความนั้นๆ
6. ผู้เขียนที่มีชื่อปรากฏในบทความที่ส่งเข้ารับการพิจารณา ต้องเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมดำเนินการในบทความจริง
7. หากเป็นบทความที่ได้รับทุนสนับสนุน ผู้เขียนควรระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนในบทความ หรือต้องระบุผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างชัดเจน (ถ้ามี)
8. หากบทความของผู้เขียนเกี่ยวข้องกับมนุษย์และสัตว์ทดลอง หรืออาสาสมัคร ผู้เขียนต้องดำเนินการตามหลักจริยธรรมในมนุษย์อย่างเคร่งครัด และควรมีหนังสือรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยมาด้วย

บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (Duties of Reviewers)
1.ผู้ประเมินบทความต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความที่พิจารณาแก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องในระหว่างการประเมินบทความ
2. ผู้ประเมินบทความต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียน
3. ผู้ประเมินบทความต้องประเมินบทความในสาขา/หัวข้อที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญ และประเมินตามกระบวนการ โดยปราศจากการนำอคติ และความคิดเห็นส่วนตัวมาเป็นเกณฑ์ในการประเมิน
4. ผู้ประเมินบทความต้องพิจารณาบทความโดยคำนึงถึงคุณภาพและความถูกต้องของเนื้อหา คุณภาพการวิเคราะห์และอภิปรายข้อมูล รวมถึงความเหมาะสมของบทความกับวารสาร
5. หากผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึงผลงานสำคัญที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องกับบทความที่กำลังประเมินด้วย ผู้ประเมินต้องระบุเพิ่มในการประเมินบทความเพื่อประโยชน์ต่อการปรับแก้และคุณภาพของบทความ
6. หากบทความมีความเหมือน ความซ้ำซ้อน หรือการคัดลอกผลงานชิ้นอื่นๆ ผู้ประเมินต้องแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบทันที
7. ผู้ประเมินต้องประเมินผลงานภายในระยะเวลาที่บรรณาธิการกำหนด

บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการวารสาร (Duties of Editors)
1.บรรณาธิการวารสารมีหน้าที่พิจารณาคุณภาพและรูปแบบของบทความตามวัตถุประสงค์และขอบเขตของวารสาร โดยปราศจากอคติต่อบทความและผู้เขียน
2. บรรณาธิการวารสารต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้เขียนและผู้ประเมินบทความแก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระหว่างการประเมินบทความ
3. บรรณาธิการวารสารต้องพิจารณา กลั่นกรอง และคัดเลือกบทความมาตีพิมพ์ลงในวารสารหลังจากผ่านการประเมินเรียบร้อยแล้ว โดยบรรณาธิการวารสารต้องไม่ปรับแก้หรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของบทความ หรือผลการประเมินคุณภาพของบทความจากผู้ประเมิน
4. บรรณาธิการวารสารต้องไม่ตีพิมพ์บทความที่เคยตีพิมพ์ที่อื่นมาแล้ว และต้องตรวจสอบบทความโดยใช้ โปรแกรมที่เชื่อถือได้ หากพบว่ามีความเหมือน ความซ้ำซ้อน หรือการคัดลอกจากผลงานอื่น ๆ บรรณาธิการต้องหยุดกระบวนการประเมิน และติดต่อผู้เขียนหลักทันที เพื่อขอคำชี้แจงเพื่อประกอบการตัดสินใจของบรรณาธิการวารสารอีกครั้งว่าจะรับตีพิมพ์บทความหรือไม่
5. บรรณาธิการวารสารต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียน ผู้ประเมินบทความ และบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
6. บรรณาธิการวารสารต้องรักษามาตรฐาน และพัฒนาวารสารให้มีคุณภาพและทันสมัยเสมอ

bottom of page